ชีวิตของคนเราทุกคนย่อมมีวงจรการมีชีวิตที่เหมือนกัน ไม่ว่าคุณจะเป็นใคร ผ่านเรื่องราวร้ายดี โอกาส อุปสรรค มากมายมาแค่ไหน สุดท้ายในทุกๆช่วงชีวิตของคนเราจะต้องพบเจอรูปแบบการหมุนเวียนของชีวิตแบบเดิมๆไม่แตกต่างกันเท่าไหร่ ถึงแม้จะมีองค์ประกอบที่ไม่เหมือนกัน เช่น สภาพแวดล้อม สถานการณ์ บุคคลรอบข้าง แต่ core หลักของรูปแบบการใช้ชีวิตไม่ได้ต่างกันเลย มีคนเคยกล่าวไว้ว่า ชีวิตของคนเราก็เหมือนการเข็นก้อนหินสักก้อนขึ้นไปบนยอดเขา เพื่อที่จะผลักก้อนหินก้อนนั้นให้ตกลงมายังพื้นดิน แล้วคุณก็กลับลงไปเก็บก้อนหินก้อนใหม่ แล้วเข็นมันกลับขึ้นไปยังยอดภูเขาอีกครั้ง เพื่อผลักมันลงมายังพื้นดินอีก วนลูปกันไปแบบนี้ตลอดชีวิต ถ้าคุณไม่เชื่อ ลองดูตัวอย่างการใช้ชีวิตของเด็กคนนี้
ตัวอย่าง : เด็กชาย A เป็นเด็กที่มีเส้นทางการเริ่มต้นชีวิตเหมือนเด็กธรรมดาทั่วๆไป เป็นเด็กที่เติบโตมาเรียนหนังสือจากอนุบาล ประถม มัธยม เข้ามหาวิทยาลัย ทำงาน เติบโตเป็นผู้ใหญ่ ถ้าจะให้หยิบช่วงชีวิตของการเข็นก้อนหินของเด็กชาย A มาเล่าก็อาจจะเริ่มดังนี้
- ก้อนหินก้อนที่ 1 : วัยมัธยมปลายเข้าสู่มหาวิทยาลัย เด็กชาย A ก็เตรียมตัวสอบแข่งขัน ระหว่างที่สอบแข่งขันจากมัธยมเข้าสู่มหาวิทยาลัย เขาต้องอ่านหนังสือ ฝึกทำข้อสอบ เรียนพิเศษ เพื่อที่จะได้เข้ามหาวิทยาลัยดีๆ คณะที่ชอบ โดยในระหว่างการเตรียมตัวนี้ก็เปรียบเสมือนเด็กชาย A กำลังเข็นก้อนหินก้อนแรกนี้จากต้นภูเขาไปยังยอดภูเขา ซึ่งระหว่างการเข็นหินก้อนนี้อาจจะเจออุปสรรค์ ทางชัน ไม่เรียบ เข็นยากลำบากมาก ต้องแข่งกับคนเป็นพันเป็นหมื่น ในการสอบแข่งขันเข้ามหาวิทยาลัย ต้องอดหลับอดนอนเพื่อติวหนังสือ อ่านหนังสือสอบ เป็นต้น จนท้ายที่สุดเด็กชาย A ก็เข็นก้อนหินก้อนนี้ไปถึงยังยอดภูเขาสำเร็จ เขาสามารถสอบผ่านเข้ามหาลัย คณะที่ต้องการได้
- ก้อนหินก้อนที่ 2 : เมื่อสอบเข้าไปในมหาวิทยาลัยได้ เป็นความสำเร็จของก้อนหินก้อนแรกที่เข็นไปถึงยอดเขาและเด็กชาย A ก็จะต้องผลักก้อนหินนั้นทิ้งไป เพื่อลงไปเก็บหินก้อนใหม่แล้วเข็นขึ้นไปยังยอดเขาอีกครั้ง กล่าวคือ นาย A ก็เข้าไปเป็นเด็กปีหนึ่งในมหาวิทยาลัย เริ่มต้นเรียนรู้อะไรใหม่ๆ ทั้งสภาพแวดล้อม ปรับตัวเข้ากับเพื่อนในคณะ หรือแม้แต่วิชาที่จะต้องเรียนในระดับมหาวิทยาลัย ก็เหมือนกำลังเข็นหินก้อนใหม่อยู่ และแน่นอนว่าเมื่อเข็นไปสักระยะมันก็ไปถึงยังยอดเขาอีกเช่นเคย นาย A เมื่อเรียนไปถึงจุดหนึ่งก็เป็นรุ่นพี่และเรียนจบ สำเร็จในการเข็นหินก้อนที่ 2 อีกครั้ง แต่ก็ต้องผลักมันตกลงจากยอดเขาอีกครั้งเช่นกัน
- ก้อนหินก้อนที่ 3: เข้าสู่วัยทำงาน เมื่อเรียนจบก็ต้องหางานดีๆทำ สิ่งนี้ก็เหมือนกลับไปเริ่มต้นใหม่อีกครั้ง คือการเริ่มต้นหางาน แข่งขันกับคนอีกมากมายให้ได้ทำงานในบริษัท ในตำแหน่งที่ต้องการ เตรียมตัวสัมภาษณ์ เรียนรู้งาน เหมือนกับลงไปที่เนินเขาแล้วเก็บหินก้อนใหม่เพื่อเข็นขึ้นไปยังยอดเขาอีก ชีวิตยังต้องเจออะไรที่ท้าทายอีกมากมาย และเมื่อผ่านสัมภาษณ์งานเข้าไปในบริษัท ก็ไปเป็นน้องใหม่ในที่ทำงาน นาย Aก็ต้องเริ่มต้นเข็นหินก้อนใหม่และผลักมันตกอีกเรื่อยๆไป
จากตัวอย่างจะเห็นว่า ชีวิตคนเรามีรูปแบบการเข็นก้อนหินไปยังยอดภูเขาที่เหมือนๆกันหมด ไม่ว่าสิ่งนั้นจะเป็นอะไรก็ตาม ไม่ใช่แค่การเรียน การทำงาน แต่ยังหมายถึงการใช้ชีวิตในแต่ละวันด้วย สุดท้ายคุณก็ต้องผลักก้อนหินก้อนนั้นตกลงมายังพื้นดินอยู่ดี เพราะฉะนั้นไม่ว่าตอนนี้คุณจะรู้สึกเหนื่อย ไม่มีความสุขกับการใช้ชีวิต หินที่คุณกำลังเข็นอยู่ขณะนี้มันหนักเกินไป สร้างความทุกข์ให้คุณ คุณอาจจะเข็นมันไปไม่ถึงยอดเขา ถอดใจทิ้งมันกลางทางก็ไม่เป็นไรนะ แต่ในขณะเดียวกันคุณทำไมไม่มองหาก้อนหินที่คุณสามารถเข็นมันขึ้นไปด้วยความสุขระหว่างทางล่ะ บางครั้งแม้ว่าก้อนหินนั้นจะหนักแต่คุณเลือกมันเพราะคุณจะได้มีความสุขกับมันระหว่างเข็นขึ้นไปย่อมดีกว่าเข็นก้อนหินที่สร้างความทุกข์ให้คุณไปตลอดทาง อย่างไรเสียสุดท้ายก้อนหินทุกก้อนก็จะตกลงมาอยู่ดี ก็เหมือนกับชีวิตคนเราที่เราควรจะเลือกเดินทางไปในสิ่งที่สร้างความสุขมากกว่าความทุกข์ เพราะคุณก็ต้องเข็นก้อนหินก้อนใหม่อยู่เรื่อยไปในทุกช่วงของชีวิต